บทความ ฐานข้อมูลภาษาไทย


บทความฐานข้อมูลภาษาไทย
  1. โรงเรียนสมบูรณ์แบบ
           ดร.อำรุง จันทวานิช และคณะ
โรงเรียนสมบูรณ์แบบ คือโรงเรียนที่มีสังคม บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ มีความพร้อมในด้านทรัพยากรวัตถุ เทคโนโลยี งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล สามารถจัดการศึกษาได้อย่างดี ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพสูงตามมาตรฐานกำหนด และได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนทุกด้าน เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข เป็นโรงเรียนที่สามารถจัดการศึกษาได้สนอง สอดคล้องความต้องการของชุมชน เป็นที่ชื่นชมของชุมชน รวมทั้งเป็นโรงเรียนที่สามารถเป็นแบบอย่างในการให้ความช่วยเหลือชุมชนและโรงเรียนอื่นในชุมชนได้
แนวคิดพื้นฐานโรงเรียนสมบูรณ์แบบได้มาจากทฤษฎีและผลการศึกษาวิจัยต่างๆซึ่งนำไปสู่การกำหนดองค์ประกอบ ปัจจัยหลักความสำเร็จและดัชนีชี้วัดความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบโดยใช้แนวคิดเชิงระบบ CIPP Model เป็นกรอบกำหนดรูปแบบเพื่อผู้บริหารโรงเรียนจะได้นำไปใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินการพัฒนาโรงเรียนตามศักยภาพ ความพร้อม และความเป็นไปได้ของแต่ละโรงเรียน และแต่ละเขตพื้นที่
โรงเรียนสมบูรณ์แบบมีองค์ประกอบที่สำคัญ แนวทาง และขั้นตอนการพัฒนาสู่ ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ ดังนี้
องค์ประกอบที่สำคัญ
      
โรงเรียนสมบูรณ์แบบมีองค์ประกอบที่สำคัญ 14 องค์ประกอบ ปัจจัยหลักความสำเร็จ 38 ปัจจัย และดัชนีชี้วัด 61 ดัชนี (จัดลำดับโดยให้ความสำคัญกับผลผลิตและผลลัพธ์ของโรงเรียน)ประกอบด้วย
องค์ประกอบด้านผลผลิต / ผลลัพธ์ ( 3 องค์ประกอบ )
1. ผู้เรียนมีคุณภาพมาตรฐาน มีพัฒนาการทุกด้าน เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข
เรียนต่อและประกอบอาชีพได้ มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 4 ปัจจัย คือ ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีพัฒนาการทุกด้านเต็มตามศักยภาพ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ตามที่หลักสูตร และสถานศึกษากำหนด และคุณภาพผู้เรียนเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยมีดัชนีชี้วัด 5 ดัชนี ได้แก่ ร้อยละของผู้เรียนที่เป็นคนดี เก่ง และมีความสุข ร้อยละของผู้เรียนที่มีพัฒนาการตามวัย ร้อยละของผู้เรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านเกณฑ์ตามที่หลักสูตร และสถานศึกษากำหนด ร้อยละของผู้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และประกอบอาชีพ และร้อยละของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่พึงพอใจ และยอมรับคุณภาพผู้เรียน
2.โรงเรียนเป็นที่ชื่นชมของชุมชน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือชุมชน
พึงพอใจ และศรัทธาต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียนโดยมีดัชนีชี้วัด 2 ดัชนี ได้แก่ ร้อยละของผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนที่พึงพอใจต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน และค่าเฉลี่ยร้อยละของ ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนที่ร่วมมือต่อกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน
3. โรงเรียนเป็นแบบอย่าง และให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน และโรงเรียนอื่น
มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 3 ปัจจัย คือ โรงเรียนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชนและโรงเรียนอื่นในการพัฒนา ครูและบุคลากรร่วม และสนับสนุน ส่งเสริมกิจกรรมชุมชน ครูและบุคลากรส่งเสริม และสนับสนุน โรงเรียนอื่นพัฒนาการจัดการศึกษาโดยมีดัชนีชี้วัด 3 ดัชนี ได้แก่ จำนวนกิจกรรมที่เป็นแบบอย่าง ค่าเฉลี่ยร้อยละของครู และบุคลากรที่ร่วมและส่งเสริม สนับสนุนกิจกรรมชุมชน และร้อยละของครู และบุคลากรที่ส่งเสริม สนับสนุนโรงเรียนอื่นพัฒนาการจัดการศึกษา
องค์ประกอบด้านกระบวนการ ( 4 องค์ประกอบ )
4. การจัดกระบวนการเรียนรู้เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 4 ปัจจัยคือผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนคิดเองและปฏิบัติจริง ครูจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ ผู้ปกครอง และชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้โดยมีดัชนีชี้วัด 5 ดัชนี ได้แก่ค่าเฉลี่ยร้อยละของผู้เรียนที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ค่าเฉลี่ยร้อยละของผู้เรียนที่คิดกิจกรรมองและปฏิบัติเอง ร้อยละของครูที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้เน้นความแตกต่างระหว่างบุคคล ของผู้เรียน ร้อยละของครูที่มีพฤติกรรมการสอนเน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด และร้อยละของผู้ปกครอง และชุมชนที่มีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้
5. การจัดบรรยากาศการเรียนรู้เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มีปัจจัยหลักความ
สำเร็จ 2 ปัจจัย คือ อาคารสถานที่ ห้องเรียน และบริเวณโรงเรียนถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย ร่มรื่น สวยงามเอื้อต่อการเรียนรู้ ผู้เรียนมีวัฒนธรรมการเรียนรู้ โดยมีดัชนีชี้วัด 4 ดัชนี ได้แก่ระดับความสำเร็จของ การจัดกิจกรรม 5 ส จำนวนแหล่งวิชาการและมุมกิจกรรมของโรงเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ จำนวนชมรม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และร้อยละของนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมชมรม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

6. การบริหารจัดการดี ใช้โรงเรียนเป็นฐาน และเน้นการมีส่วนร่วม มีปัจจัยหลัก
ความสำเร็จ 2 ปัจจัย คือบริหารจัดการโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน และบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาล โดยมีดัชนีชี้วัด 2 ดัชนี ได้แก่ จำนวนกิจกรรมการบริหารจัดการที่เปิดโอกาสให้ครู บุคลากรทางการศึกษา คณะกรรมการโรงเรียน นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนมีส่วนร่วม และร้อยละของกิจกรรม การบริหารจัดการที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาลที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย
7. การประกันคุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหาร โรงเรียน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 2 ปัจจัย คือ มีระบบการประกันคุณภาพภายในที่ชัดเจน ครบวงจร ปฏิบัติได้ และมีความพร้อมรับการประเมินภายนอก โดยมีดัชนีชี้วัด 3 ดัชนี ได้แก่ มีระบบและมีแผน งานการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน มีการดำเนินการตามระบบและแผนงาน ตลอดจนมีการประเมินตนเอง และการจัดทำรายงาน
องค์ประกอบด้านปัจจัย ( 6 องค์ประกอบ )
8. ครู ผู้บริหาร และบุคลากรทางการศึกษามืออาชีพและจำนวนเพียงพอ มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 7 ปัจจัย คือครูมีความสามารถจัดการเรียนการสอนตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพครู ได้รับการพัฒนาตรงตามความต้องการ สอดคล้องกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ ครูครบตามเกณฑ์ที่กำหนดและมีภาระงานเหมาะสม มีขวัญ และกำลังใจในการประกอบวิชาชีพครู ผู้บริหารสามารถพัฒนางานได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ และประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพโดยมีดัชนีชี้วัด 10 ดัชนี ได้แก่ร้อยละของครูที่ปฏิบัติงานได้ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู ร้อยละของครูที่ประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพครูจนถือเป็นแบบอย่างได้ ร้อยละของครูที่ได้รับการพัฒนาตรงตามความต้องการ ร้อยละของครูที่ได้รับการพัฒนาสอดคล้องกับภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ อัตราส่วนของครูต่อนักเรียน ร้อยละของครูที่สอนตรงตามสาขาวิชาที่มีความถนัด ค่าเฉลี่ยคาบการสอนต่อสัปดาห์ ร้อยละของครูที่มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน คุณภาพของผลการปฏิบัติงานที่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพของผู้บริหาร การประพฤติ ปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพจนถือเป็นแบบอย่างได้ของผู้บริหาร
9. ลักษณะทางกายภาพของโรงเรียนได้มาตรฐาน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ
4 ปัจจัย คือ พื้นที่โรงเรียน โครงสร้างพื้นฐาน อาคารเรียน อาคารประกอบ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องบริการ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมกีฬาและการพักผ่อนเหมาะสม โดยมีดัชนีชี้วัด 7 ดัชนี ได้แก่ ความเพียงพอ และเหมาะสมของพื้นที่ใช้สอยของโรงเรียน ความสะอาด และเพียงพอของน้ำดื่ม น้ำใช้ ความสะอาด และเพียงพอของห้องน้ำ ห้องส้วม มีระบบไฟฟ้าที่สมบูรณ์ ความสะดวก สบาย ปลอดภัยของถนน และทางเดิน ความเพียงพอ และเหมาะสมของพื้นที่จัดกิจกรรมกีฬา
10. หลักสูตรเหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือ
หลักสูตรของสถานศึกษาสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตอบสนองต่อความต้องการของ ผู้เรียนและท้องถิ่นโดยมีดัชนีชี้วัด 3 ดัชนี ได้แก่ จำนวนรายวิชาครบตามโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละของรายวิชาที่นำสาระท้องถิ่นเข้าบูรณาการ และจำนวนรายวิชาที่ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำ
11. สื่อ อุปกรณ์ เทคโนโลยีทันสมัย มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือสื่อ อุปกรณ์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการเหมาะสม ทันสมัย และเพียงพอ โดยมีดัชนีชี้วัด 2 ดัชนี ได้แก่ ความเพียงพอ เหมาะสม และทันสมัยของสื่อ อุปกรณ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการ และอัตราส่วนนักเรียนต่อหน่วยของคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเรียนการสอนแต่ละครั้ง
12. แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียนหลากหลาย มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 3 ปัจจัย คือ
ห้องสมุดได้มาตรฐาน มีศูนย์วัฒนธรรมชุมชนในโรงเรียน มีแหล่งการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่หลากหลายไว้บริการแก่ผู้เรียน และชุมชน โดยมีดัชนีชี้วัด 6 ดัชนี ได้แก่ จำนวนหนังสือต่อนักเรียน ร้อยละของนักเรียนที่เข้าใช้ห้องสมุดต่อภาคเรียน ประเภทของวัฒนธรรมที่จัดบริการในศูนย์วัฒนธรรม ร้อยละของนักเรียนที่ใช้บริการศูนย์วัฒนธรรมต่อภาคเรียน จำนวน/ประเภทแหล่งการเรียนรู้และเทคโนโลยีสารสนเทศที่จัดบริการในโรงเรียน และค่าเฉลี่ยร้อยละของการใช้แหล่งการเรียนรู้ทุกประเภท
13. งบประมาณมุ่งเน้นผลงาน มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 1 ปัจจัย คือ มีการจัด
งบประมาณตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 Hurdles โดยมีดัชนีชี้วัด 1 ดัชนี คือ การจัด
งบประมาณตามมาตรฐานการจัดการทางการเงิน 7 Hurdles ที่สำเร็จตามเป้าหมาย
องค์ประกอบด้านบริบท ( 1 องค์ประกอบ )
14. สภาพแวดล้อมภายนอกของโรงเรียนดี มีสังคม บรรยากาศ สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ มีปัจจัยหลักความสำเร็จ 3 ปัจจัย คือ ที่ตั้งเหมาะสม ชุมชนร่วมมือ และแหล่งการเรียนรู้ในชุมชนหลากหลาย โดยมีดัชนีชี้วัด ดัชนีได้แก่ค่าเฉลี่ยจำนวนเวลาในการเดินทางมาเรียนของนักเรียน จำนวนแหล่งอบายมุขบริเวณรอบโรงเรียน ระดับมลภาวะตามเกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อม จำนวนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ที่ชุมชนให้การสนับสนุนเพื่อการศึกษาของโรงเรียน ค่าเฉลี่ยร้อยละของผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนที่ให้ความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ จำนวน/ประเภทแหล่งการเรียนรู้ในชุมชน จำนวน/ประเภทแหล่งการเรียนรู้ที่โรงเรียนนำมาใช้ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน ค่าเฉลี่ยร้อยละของนักเรียนที่ใช้แหล่งการเรียนรู้ในชุมชน
แนวทางการพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
แนวทางสำคัญที่โรงเรียนสามารถใช้ในการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ ประกอบด้วย
1. กำหนดเป้าหมายผลผลิต/ผลลัพธ์
1.1 ผู้เรียนมีคุณภาพ มาตรฐาน มีพัฒนาการทุกด้าน เรียนต่อและประกอบอาชีพได้
1.2 โรงเรียนเป็นที่ชื่นชมของชุมชน เป็นแบบอย่าง และให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชน และโรงเรียนอื่นได้
2. ดำเนินการไปสู่เป้าหมาย โดยมีกระบวนการใน 3 เรื่อง
2.1 กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด
2.2 การบริหารจัดการดี ใช้โรงเรียนเป็นฐาน เน้นการมีส่วนร่วม
2.3 การประกันคุณภาพการศึกษามีประสิทธิภาพ เป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารโรงเรียน
3. จัดให้มีปัจจัย
3.1 ทรัพยากรบุคคลมืออาชีพ และจำนวนเพียงพอ
3.2 ทรัพยากรวัตถุ เทคโนโลยี และงบประมาณได้มาตรฐาน เหมาะสม ทันสมัย และเพียงพอ
4. บริหารจัดการด้านบริบทให้เอื้อต่อการดำเนินการสู่เป้าหมาย
ขั้นตอนการพัฒนาสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
โรงเรียนสามารถพัฒนาตนเองสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบตามศักยภาพ ความพร้อม และความเป็นไปได้ โดยดำเนินการตามขั้นตอน 7 ขั้นตอนต่อไปนี้
1. เตรียมการ และสร้างความเข้าใจ
1.1 เตรียมการ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดโรงเรียนสมบูรณ์แบบแก่ผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
1.2 จัดให้มีผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ซึ่งอาจจะแต่งตั้งในรูปองค์คณะบุคคล
1.3 จัดให้มีการเตรียมข้อมูลในภาพรวมของโรงเรียน และเตรียมการนำเสนอ ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ
2. ตรวจสอบสถานภาพโรงเรียน
2.1 ตรวจสอบสถานภาพตนเองในแต่ละองค์ประกอบของการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ โดยตรวจสอบทั้ง 14 องค์ประกอบทีละองค์ประกอบ และในแต่ละองค์ประกอบให้ตรวจสอบปัจจัยหลักความสำเร็จทีละปัจจัย (ได้นำเสนอเครื่องมือตรวจสอบสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบไว้ในภาคผนวกของเอกสารแนวทางการพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ) ถ้าองค์ประกอบใดมี 1 ปัจจัยหลักความสำเร็จ มีดัชนีชี้วัดมากกว่า 1 ดัชนี ให้ตรวจสอบ 1 ปัจจัยหลักความสำเร็จ และคำนวณหาค่าเฉลี่ยระดับผลการประเมินของดัชนีชี้วัด แล้วสรุปผลการประเมินเป็นระดับสถานภาพองค์ประกอบ ถ้าองค์ประกอบใดมีตั้งแต่ 2 ปัจจัยหลักความสำเร็จขึ้นไป ให้ดำเนินการตรวจสอบทุกปัจจัยหลักตวามสำเร็จ และคำนวณหาค่าเฉลี่ยระดับผลการประเมินของปัจจัยหลักความสำเร็จ แล้วแปลความหมายตามเกณฑ์ ได้ผลการประเมินเป็นระดับสถานภาพองค์ประกอบนั้นๆ
2.2 สรุปการตรวจสอบสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ โดยพิจารณาว่า
โรงเรียนมีสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบในระดับใด (สูง ปานกลาง ต่ำ)ซึ่งเป็นการพิจารณาจากความถี่สูงสุดในระดับนั้น บางกรณีมีความถี่สูงสุดเห็นชัดเจน บางกรณีไม่ชัดเจนจึงเป็นเพียงแนวโน้มว่ามีสถานภาพระดับนั้นๆ ดังนั้นผลการตรวจสอบสถานภาพการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบอาจจะสรุปเป็นภาพรวมชัดเจนจนกำหนดได้ หรือเป็นเพียงลักษณะแนวโน้ม ในการยกระดับการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ จึงจำเป็นต้องพิจารณาทั้ง 3 ระดับสถานภาพประกอบกัน
3. กำหนดเป้าประสงค์การพัฒนา
3.1 กำหนดให้ทุกองค์ประกอบเป็นเป้าหมายของการพัฒนาโรงเรียนให้เป็น โรงเรียนสมบูรณ์แบบโดยเน้นองค์ประกอบที่โรงเรียนต้องการยกระดับก่อน หลังตามผลการตรวจสอบสถานภาพขององค์ประกอบการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
3.2 กำหนดระดับความสำเร็จในแต่ละปัจจัยหลักความสำเร็จตามดัชนีชี้วัดที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาตามศักยภาพ ความพร้อม และความเป็นไปได้ของโรงเรียน
3.3 กำหนดเงื่อนไขเวลาการพัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบเป็น1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี
4. กำหนดแผนปฏิบัติการยกระดับ โดยอาจกำหนดเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนา โรงเรียน หรือแยกเป็นแผนพัฒนาโรงเรียนสมบูรณ์แบบต่างหาก
4.1 ศึกษา และวิเคราะห์องค์ประกอบ 14 องค์ประกอบ และปัจจัยหลัก ความสำเร็จ 38 ปัจจัย
4.2 กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยนำผลการศึกษา วิเคราะห์องค์ประกอบ มาใช้เป็นข้อมูลในการกำหนด การเน้นยุทธศาสตร์ด้านใดก่อน หลัง ในช่วงปีใด ให้เป็นไปตามผล การตรวจสอบสถานภาพ โดยมีกลยุทธ์ในการดำเนินการในแต่ละยุทธศาสตร์
4.3 จัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ตามสถานภาพของโรงเรียนและความจำเป็นเร่งด่วนที่โรงเรียนจะต้องได้รับการพัฒนา ( ความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง )
4.4 วิเคราะห์เป้าประสงค์ของการพัฒนา และกำหนดเป้าหมายรายปีตาม
สถานภาพของโรงเรียน และความต้องการที่จะยกระดับในแต่ละองค์ประกอบ โดยพิจารณาความเป็นไปได้ของการดำเนินงานทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ และปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
4.5 กำหนดแนวทางดำเนินการยกระดับ โดยพิจารณาจากผลการตรวจสอบ
สถานภาพของโรงเรียน แนวทางดำเนินการและพิจารณากำหนดระยะเวลาการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ คือ
โรงเรียนที่มีลักษณะความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับสูง ควรดำเนินการ
พัฒนาทุกองค์ประกอบเพื่อให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบภายใน 1 ปี และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โรงเรียนที่มีลักษณะความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับปานกลาง ควร
ดำเนินการพัฒนาทุกองค์ประกอบ และเน้นองค์ประกอบที่โรงเรียนต้องการยกระดับเพื่อให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบภายใน 3 ปี และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
โรงเรียนที่มีลักษณะความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับต่ำ ควรดำเนินการพัฒนาทุกองค์ประกอบ และเน้นองค์ประกอบที่โรงเรียนต้องการยกระดับเพื่อให้เป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบภายใน 5 ปี และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
5. ดำเนินการยกระดับสู่ความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
5.1 ประชาสัมพันธ์แผนปฏิบัติการเพื่อให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรับทราบภารกิจ เข้าใจ ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ( วิธีคิด วิธีทำงาน และวิธีบริหารจัดการ ) ของตนเอง และมีส่วนร่วมในการดำเนินการยกระดับโรงเรียน
5.2 กำหนดกลไก และภารกิจ โดยกำหนดองค์คณะบุคคลรับผิดชอบในการ ดำเนินการ ติดตามประเมินผล และจัดทำรายงาน และกำหนดพันธกิจที่ชัดเจน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโรงเรียนในระยะเวลาที่รวดเร็ว
5.3 ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ โดยดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโรงเรียนตามสถานภาพของโรงเรียน และช่วงระยะเวลาที่โรงเรียนกำหนดไว้ในแผน รวมทั้งกระตุ้น
และเสริมแรงให้ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมกันดำเนินการตามแผน
6. ประเมินความเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
6.1 โรงเรียนประเมินตนเอง เพื่อทราบผลการพัฒนา แก้ปัญหาที่เกิดขึ้น กำหนด
เป้าหมายการพัฒนา และเตรียมการพัฒนาในปีต่อๆไป
6.2 กรมต้นสังกัด/เขตพื้นที่ประเมิน และนำผลการประเมินมาใช้ประกาศยกย่อง
โรงเรียนที่มีผลการพัฒนาตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างเรียนรู้ ( Show Case ) รวมทั้งให้ความช่วยเหลือโรงเรียนที่มีผลการพัฒนาน้อย หรือมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ
6.3 กระทรวงประเมินเพื่อยกย่องโรงเรียนที่สามารถพัฒนาเป็นโรงเรียนสมบูรณ์
แบบเป็นที่ปรากฏชัดเจน ประกาศยกย่องเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบระดับกระทรวง และเผยแพร่สู่ สาธาณชน
ทั้งนี้ การประเมินทุกระดับจะเน้นข้อมูลสภาพจริง และประโยชน์ที่จะส่งผลต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ
7. สร้างความยั่งยืนในการเป็นโรงเรียนสมบูรณ์แบบ
7.1 โรงเรียนทบทวนผลการประเมิน สรุปจุดที่สำเร็จ และจุดที่จะต้องปรับปรุง แก้ไข ตลอดจนกำหนดแผนผดุงการพัฒนาที่จะดำเนินต่อไป
7.2 เขตพื้นที่ กรมต้นสังกัด และกระทรวงศึกษาธิการรวบรวมข้อมูลความสำเร็จ
และผลการพัฒนาที่น่าชื่นชม ยกย่อง และประกาศรับรอง ตลอดจนนำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโรงเรียนอื่น ผู้เกี่ยวข้อง และสาธารณชน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้รับทราบผลการพัฒนาที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ กรมต้นสังกัดจะต้องรวบรวมข้อมูลทั้งความสำเร็จ และสิ่งที่จะต้องปรับปรุงมาใช้กำหนดแนวทางการพัฒนา หรือสนับสนุนต่อเนื่องให้เหมาะสม และหลากหลายลักษณะ สอดคล้องกับบริบทของโรงเรียนเพื่อที่จะผดุงให้การพัฒนามีความต่อเนื่อง และยั่งยืนต่อไป
2. ต้นแบบแห่งการเรียนรู้
ดร.บรรเจอดพร   รัตนพันธุ์
คณะทำงาน รมช.ศธ.
   จะเห็นว่าในปัจจุบันเราได้ยินคำว่า “ต้นแบบ” ในวงการศึกษามากมาย ที่ได้ยินบ่อยมาก คือ “ครูต้นแบบ” ต่อมาก็มี โรงเรียนต้นแบบ ศึกษานิเทศก์ต้นแบบ และ ต่อ ๆ ไปก็จะมี ผู้บริหารต้นแบบ นักเรียนต้นแบบ ผู้ปกครองต้นแบบ ชุมชนต้นแบบ ภารโรงต้นแบบ ฯลฯ
            มีใครเคยสงสัยไหมว่า “ต้นแบบคืออะไร ทำไมต้องมีครูต้นแบบ เกิดประโยชน์อะไรถึงจะต้องคัดเลือกกันด้วยกระบวนการยุ่งยาก ซับซ้อน ประเมินแล้วประเมินเล่า เสียงบประมาณมากมาย มีหลายหน่วยงานทำเรื่องเดียวกัน จนกลายเป็นว่า ต้นแบบของใครจะดีกว่า ? แล้วก็ได้ต้นแบบมาไม่ถึง 5% ของครูทั้งหมด มีการยกย่องเชิดชู เผยแพร่ ออกข่าววิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ แล้วคนที่ไม่ได้เป็นต้นแบบ จะได้อะไร รู้สึกรู้สาอะไรกับ ต้นแบบ
            เป็นโอกาสดีของผู้เขียนได้ไปร่วมเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า กับรองศาสตราจารย์ บุญนำ ทานสัมฤทธิ์ ในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพครบ 101 ปี ณ อาคาร 3 คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2544 มีวิทยากรที่ทรงคุณงามความดี ความรู้ ภูมิปัญญาชั้นนำของประเทศหลายท่าน และมีท่านหนึ่งได้พูดเรื่อง “ต้นแบบ” ว่า พระมหากษัตริย์ของเรามี “ต้นแบบ” ที่ทรงคุณมหาศาลที่หล่อหลอมพระองค์ท่านให้เป็นกษัตริย์ที่สถิตย์ในดวงใจของปวงชนชาวไทย นั่นคือ  “สมเด็จย่า” แม้ว่าสมเด็จย่า จะจากพวกเราไป แต่พระองค์ฝากสิ่งที่สำคัญยิ่งไว้ให้ชาวโลกแล้ว วิทยากรที่กล่าวถึงคือ พระเทพโสภณ (ประยูร ธมมจิตโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
            พระคุณเจ้าได้สรุปความสำคัญของคำว่า ต้นแบบว่ามี 2 นัย
            นัยแรกคือต้นแบบในฐานะเป็นแม่แบบ เพื่อให้ผู้ดูแบบได้เอาอย่าง ศึกษาตามพฤติกรรมต้นแบบ แล้วทำตามแบบ เลียนแบบ ต่อมาก็อาจ ประยุกต์แบบ
            นัยที่สองคือ ต้นแบบในฐานะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการใฝ่รู้ใฝ่เรียน เป็นกำลังใจแก่ผู้ดูแล กระตุ้นให้ผู้ดูแบบสร้างสรรสิ่งดีงาม ต้นแบบตามนัยนี้อาจไม่ต้องมีการถ่ายทอดจากต้นแบบสู่ผู้ดูแบบ    ไม่ต้องสอนกันตรง ๆ เพียงแค่ผู้ดูแบบ....ได้เห็น... ได้รับฟังต่อ ๆ กันมาได้รับรู้ก็เกิดความปลื้มปีติ ศรัทธาเชื่อมั่น เป็นขวัญกำลังใจ แม้ไม่รู้จัก แม้เพียงแค่มอง ผู้ดูแบบก็ได้อานิสงส์มากมาย “แค่อยู่ให้เห็นก็เป็นแรงบันดาลใจมหาศาล
            พระคุณเจ้ายังกล่าวถึงการศึกษาด้วยว่า การศึกษาถ้าไม่มีแบบอย่างที่ดีเป็นไปไม่ได้ การศึกษาเป็นระบบกัลยาณมิตร เป็นพรหมจรรย์ การมีต้นแบบที่ดีย่อมเป็นกำลังใจ ครูควรต้องเป็นแบบอย่างที่ดีชี้นำทางสว่างแก่ศิษย์ ต้นแบบแห่งการเรียนรู้มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ ต้นแบบสอนให้รู้ ต้นแบบทำให้ดู และต้นแบบอยู่ให้เห็น หากครูเป็นต้นแบบที่ดี เป็นกัลยาณมิตรของศิษย์และเพื่อนครู ก็ย่อมจะเกิดผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เกิดครูดี ศิษย์ดีต่อเนื่องขยายวงต่อ ๆ กันไป “ผู้ที่มีวิญญาณแห่งต้นแบบการเรียนรู้ ย่อมจะไปเหน็ดเหนื่อยในการถ่ายทอด
            จุดเริ่มต้นของการเกิดแรงบันดาลใจในชีวิตผู้ดูแบบ คือการ ได้รู้ ได้ดู ได้เห็นต้นแบบ เกิดศรัทธาต่อต้นแบบ เกิดแรงบันดาลใจให้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน เลียนแบบของต้นแบบ หากเราเผยแพร่ตัวแบบที่ไม่เหมาะสมต้นแบบชองการกระทำในอบายมุข ต้นแบบของการฉ้อราษฎร์ ต้นแบบของการหยาบคายในกิริยาและวาจา ต้นแบบของการประจบสอพลอ ฯลฯ สังคมจะดูต้นแบบที่น่าชื่นใจเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างคุณภาพดีแก่เยาวชน แก่ประเทศชาติจากที่ไหน
            จริงอยู่ดังที่ขงจื้อกล่าวไว้ คนดี คนเลว เป็นครูได้ทั้งหมด เพราะเมื่อเห็นคนดี ก็เลียนแบบ เห็นคนเลวก็เลียนแบบแต่อยากถามว่าผู้ที่จะแยกแยะดี / เลว ได้ชัดเจนต้องมีวุฒิภาวะเพียงใด เยาวชนของเราบางคนยังมีวุฒิภาวะไม่ถึงพร้อม โดยเฉพาะถ้าเห็นตัวแบบนั้นเป็นครู เป็นพ่อ แม่ เขายิ่งอาจสับสนว่าเขาควรเลียนแบบอย่างที่เห็น ใช่หรือไม่
            พวกเราชาวครูทั้งหลาย คงทราบแล้วว่า ครูต้นแบบ โรงเรียนต้นแบบ ศึกษานิเทศก์ก็ต้นแบบ และต้นแบบอีกสารพัดที่กำลังจะตามมา ทรงคุณค่าของการเป็นแบบแก่ครู และสังคมเพียงใด
            ต้นแบบต้องทำงานหนักและเหนื่อยทั้งเพื่อคงรักษาการเป็นต้นแบบ อีกทั้งถ่ายทอด ขยายเครือข่ายแก่ผู้ดูแบบ ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ แต่ท่านเหล่านั้นคงไม่เหน็ดเหนื่อยต่อการสอนการเผยแพร่เพราะ.......ท่านมีวิญญาณแห่งต้นแบบ พวกเรามาร่วมเป็นกำลังใจให้ต้นแบบกันเถอะค่ะ ไม่ว่าท่านจะเป็นต้นแบบจากองค์กรไหน ท่านก็เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้พบเห็นได้เสมอ ทั้งที่ท่านรู้ตัวและไม่รู้ตัว ท่านได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่นัก
            สำหรับบางท่าน.......แม้ไม่มีองค์กรใดมารับรองว่าท่านเป็นต้นแบบ แม้ท่านส่งผลงานเข้ารับเลือกเป็นต้นแบบแล้ว......ท่าน ไม่ได้รับเลือก   แต่ท่านอาจเป็นแรงบันดาลใจ
             เป็นต้นแบบของดวงตาคู่น้อย ๆ ที่จับจ้องดูทุกกิริยาของท่าน และ
            ท่านเป็นต้นแบบตั้งแต่มีเสียงเรียกท่านว่า คุณครู


3.ทำโรงเรียนเล็ก (ในป่า) ให้น่าอยู่
ดร. บรรเจิดพร  รัตนพันธุ์
ครั้งหนึ่งในชีวิตข้าราชการครู ดิฉันเคยสอนที่โรงเรียนขนาดเล็กที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ ในภาวะที่ขาดแคลนไปเกือบทุกอย่าง มีนักเรียน 31 คน มีอาคารเรียนที่ปลวกยังไม่กิน 1 หลัง เปิดสอน 4 ชั้นคือ ป.1 ป.2 ป.3 และ ป.4 ณ ช่วงเวลาหนึ่งมีครู 3 คน ครูใหญ่ 1 คน อยู่มาไม่นาน โรงเรียนถูกยุบ ครูใหญ่ย้ายไปอยู่โรงเรียนอื่นแต่ต่อมาไม่นานนัก ครู 2 คนก็ได้รับพิจารณาให้ย้าย เหลือดิฉันอยู่โรงเรียนนั้นเพียงคนเดียว
ชุมชนรอบโรงเรียนมีอาชีพทำนาทุกหลังคาเรือน และเป็นชุมชนชาวเขมร ที่ผู้เฒ่าผู้แก่บางคน ยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ในเวลานั้นไม่มีไฟฟ้า และน้ำบาดาล น้ำประปา มีเพียงเทียนไข น้ำบ่อ และน้ำฝน เด็กนักเรียนของดิฉันมีรองเท้าใส่ไม่ถึง 10 คน มีชุดนักเรียนมากกว่า 1 ชุด คงน้อยกว่า 5 คน
ดิฉันมองไปที่โรงเรียนขนาดกลางและใหญ่ ที่อยู่ในละแวกใกล้กันพบว่า ฐานะทางเศรษฐกิจของชุมชนก็ไม่แตกต่างกับโรงเรียนที่ดิฉันสอนมากนัก แต่เพราะปริมาณนักเรียนที่มีมากกว่า อาคารเรียนดูมีหลักฐานมั่นคงกว่า สวัสดิการของครูในโรงเรียนดีกว่า เพราะมีบ้านพักครู มีไฟฟ้า น้ำประปาใช้ ได้รับการเอาใจใส่ดูแลจาก สปอ. ดีกว่า เช่น หากมีการอบรมสัมมนา ครูที่จะได้รับเลือกไปเข้าร่วมอบรม ทั้งระดับอำเภอ จังหวัด หรือให้มาถึงกรุงเทพฯ ก็ตาม เป็นครูจากโรงเรียนใหญ่ทั้งสิ้น การจัดสรรงบประมาณรายหัวที่บอกว่า ให้ตามรายหัวนักเรียนเท่ากันทุกคน เป็นการให้ที่เท่ากันแต่ไม่เท่ากัน การจัดสรรให้ความดีความชอบเป็นกรณีพิเศษก็เช่นกัน จะได้กับครูโรงเรียนใหญ่ มีอัตราส่วนครูมากกว่า โรงเรียนเล็กเสียงจึงค่อย ยังมีอีกหลายเหตุผลที่ ครูหลายคนพยายามย้ายเข้าไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่กว่าโรงเรียนเดิมขึ้นเรื่อยๆ แล้วเด็กและเยาวชน ที่อยู่ในโรงเรียนเล็กใครจะเหลียวแล
มาถึง ณ เวลานี้ ปัญหาขาดแคลนครูทวีความรุนแรงมากขึ้น จากผลโครงการเกษียณก่อนกำหนด ครูที่เหลืออยู่ในโรงเรียนแล้วไม่คิดจะเข้าโครงการฯ ในปีแรก ก็ต้องเปลี่ยนใจในปีต่อมา เพราะรับภาระเพิ่มจากที่มีมากอยู่แล้วไม่ไหว แม้รัฐบาลจะพยายามจัดสรรครูอัตราจ้างให้ ก็ยังไม่เท่าที่ครูขอเกษียณก่อนกำหนดออกไป อีกประการหนึ่งที่ขาดแคลน ก็เป็นผลมาจากคิดอัตราส่วนครู : นักเรียน ไม่สมดุลกับความเป็นจริง ยังมีโรงเรียนขนาดเล็กอีกนับหมื่นโรงเรียนที่มีจำนวน
ชั้นเรียนมาก แต่จำนวนนักเรียนน้อย ถ้าคิดอัตราส่วนครู : นักเรียน 1 : 25 จะพบว่ามีครูเกิน(แต่ไม่เกิน) อยู่ตามโรงเรียนเล็กๆ นับพันโรงเรียน ที่กล่าวมาเป็นเหตุผลที่ทำให้ครูพยายามย้ายตัวเองไปอยู่โรงเรียนใหญ่ขึ้นใหญ่ขึ้น
ในปีการศึกษา 2546 และปีต่อๆ ไป จะมีนักเรียนที่จะเรียนระดับมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนไทยในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี อย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย แล้วถ้าจำนวนครูยังคงมีใกล้เคียงกับทุกวันนี้ จะให้ใครสอนนักเรียนเหล่านั้น โดยเฉพาะวิชาหลัก เช่น ไทย คณิต อังกฤษ วิทย์ คอมพิวเตอร์
หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอข่าวที่ไม่ตรงกับข้อมูลกระทรวงศึกษาธิการ เช่น เสนอว่ากระทรวงศึกษาธิการมีครูเกินเกือบแสนคน และว่าการแก้ปัญหาครูไม่พอในโรงเรียน ไม่ใช่บรรจุครูเพิ่ม แต่ให้ส่งครูช่วยราชการกลับต้นสังกัด จัดการบริหารเกลี่ยครูจากโรงเรียนครูเกิน ไปโรงเรียนที่ขาดครู ใช้หลักการบริหารจัดการ ใช้ทรัพยากรครูร่วมกัน (โดยเฉพาะวิชาที่ขาดแคลนครู เช่น วิทย์ คณิต อังกฤษ คอมพิวเตอร์)
คงมีอีกหลายวิธี ที่กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ ได้พยายามเสนอแนะ แต่เวลาปฏิบัติจริง โดยเฉพาะเกลี่ยครูจากโรงเรียนครูเกิน(ซึ่งมักจะเป็นโรงเรียนใหญ่)ไปโรงเรียนที่ขาดครู เป็นเรื่องที่ทำได้ยากยิ่งนัก
ที่ดิฉันเล่าประวัติตัวเองเมื่อครั้งที่เป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กก็เพื่อจะบอกว่า การทำให้ครูย้ายไปอยู่ในโรงเรียนเล็กเองโดยสมัครใจ หรือการตรึงครูโรงเรียนเล็กไม่ให้ขอย้ายออก น่าจะเป็นหนทางการเกลี่ยครูที่ดี มากกว่าเป็นคำสั่งราชการ
จากประสบการณ์ที่เล่ามา ดิฉันจึงเห็นว่าหากทำโรงเรียนเล็ก(ในป่า)ให้น่าอยู่ ก็จะเป็นแรงจูงใจได้ไม่น้อย เช่น
1. ปรับปรุงโรงเรียนที่มักจะเป็นอาคารเก่าๆ ไม้ผุๆ เก้าอี้ - โต๊ะของนักเรียนโยกเยก ผุพัง บานหน้าต่างชำรุด ขอสับหน้าต่างไม่มี ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ควรปรับปรุงให้ทั้งนักเรียนและครู ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สวยงาม โรงเรียนสะอาด สีสันสดใส เครื่องใช้ โต๊ะ - เก้าอี้ กระดานดำ น่าใช้น่าเรียน ขอเสนอนี้ มิใช่อยากจะให้ครู - นักเรียนติดบ่วงวัตถุภายนอกร่างกาย แต่คงไม่ปฏิเสธว่าใครได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีย่อมมีจิตใจสดใส ทำงานมีความสุข
2.จัดสร้าง หรือปรับปรุง บ้านพักครูให้น่าอยู่ มีการทาสีบ้านพักครูให้ดูใหม่ สดใส จัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ไฟฟ้า น้ำบาดาลที่จะใช้ตลอดปี หรือจัดซื้ออุปกรณ์เครื่องปั่นไฟ ให้เป็นพิเศษ เมื่อครูมีที่พักอาศัยน่าอยู่ไม่ลำบาก กันดาร สมเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นครู ก็จะเป็นแรงจูงใจสำคัญ
3. คิดอัตราส่วน ครูสายสนับสนุนการสอนให้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้มีผู้ช่วยครูทำงาน
ธุระการ รวมทั้งงานนักการภารโรง ครูจะได้มีเวลากับการสอนนักเรียนมากขึ้น แต่ถ้าคิดอัตราส่วนตามจำนวนนักเรียน โรงเรียนขนาดเล็กอาจไม่ได้รับจัดสรรอัตรา ครูต้องการทำงานธุระการและงานภารโรงเอง ใครจะอยากย้ายมาอยู่โรงเรียนเล็ก หรือครูที่อยู่โรงเรียนเล็กคงขอย้ายออกจากโรงเรียนเมื่อมีโอกาส 
4. จัดสรรเงินรายหัวให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นกรณีพิเศษ เพราะอย่างที่เล่าแต่ต้นว่าโรงเรียนขนาดเล็กได้รับเงินรายหัวเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่เมื่อรวมจำนวนเงินแล้วเป็นงบประมาณที่ไม่มากนัก ซื้อสื่อ - วัสดุอุปกรณ์ คุณภาพดีราคาสูงนักไม่ได้ ทำให้ต้องซื้อใหม่บ่อยครั้งจึงเปรียบเหมือนได้รับจัดสรรเท่ากันแต่ไม่เท่ากัน หากโรงเรียนเล็กได้รับจัดสรรเป็นกรณีพิเศษได้ จะเป็นแรงจูงใจให้กับครูนอกเหนือจากคุณภาพชีวิตส่วนตัวแล้ว ยังเป็นแรงจูงใจในด้านวิชาชีพด้วย เนื่องจากได้ใช้สื่อ-อุปกรณ์การสอนคุณภาพดี ทันสมัย ส่วนจะจัดให้ใครเป็นกรณีพิเศษอย่างไร คงต้องคิดในรายละเอียดต่อไป
5. จัดสวัสดิการพิเศษอื่นๆ แก่ครูในโรงเรียนเล็กและห่างไกล กันดาร เช่น มีงบประมาณค่าน้ำมันรถ จัดสวัสดิการอาหารกลางวัน ให้โอกาสก่อนในการที่จะได้รับการอบรมสัมมนาเพื่อพัฒนาด้านวิชาการของครูในโรงเรียนขนาดเล็ก หรือถ้าจะให้เป็นคูปองสำหรับอบรม ก็ควรได้รับคูปองมูลค่ามากกว่า
ข้อเสนอเหล่านี้ เป็นการประมวลจากประสบการณ์ครูโรงเรียนขนาดเล็กที่สุด ถ้าผู้บริหารเหลียวมามองและหาทางช่วยเหลือแก้ไขกฎระเบียบเพื่อจูงใจครูให้อยากอยู่ในโรงเรียนเล็กต่อไป หรือถึงขั้นเป็นแรงจูงใจให้ย้ายไปอยู่โรงเรียนเล็ก ก็คงเป็นอานิสงส์ไม่น้อย การเกลี่ยครูที่ใช้ทั้งวิธีขอร้อง บังคับ ขู่เข็ญ คงจะลดลงได้ ส่วนครูดีมีอุดมการณ์อยากพัฒนาโรงเรียนเล็กๆ ให้ก้าวหน้าด้วยความมุ่งมั่น จะได้มีกำลังใจไม่ย้ายหนีออกจากโรงเรียนเหมือนอย่างทุกวันนี้
          4. การจัดการศึกษาภาคบังคับให้มีคุณภาพได้จริงหรือ
                             มัณฑนา ศังขะกฤษณ์
                          ที่ปรึกษากระทรวงศึกษาธิการ
  การศึกษาภาคบังคับเป็นระดับการศึกษาที่จำเป็นที่สุดของคนไทย จึงต้องใช้คำว่า  “บังคับเขียนไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ    และยังต้องมีกฎหมายลูกที่กำลังยกร่างกันอีก    เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่า ระดับใดเป็นการศึกษาภาคบังคับ   และจะบังคับทั้งฝ่ายผู้จัดฝ่ายผู้เรียน และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อย่างไรนอกจากนั้นในการจัดการศึกษาต่อไปนี้ยังต้องจัดการเรียนรู้แบบที่เด็กมีความสำคัญสูงสุด    ซึ่งต้องมีแนวทางการจัดที่หลากหลายตามความแตกต่างของผู้เรียนแต่ละคน   ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณของประเทศที่เป็นอยู่นี้  ฝ่ายผู้จัดจะให้บริการผู้เรียนได้ทั่วถึง และที่สำคัญจะจัดให้มีคุณภาพได้อย่างไร
          กระทรวงศึกษาธิการเป็นหน่วยหลัก      ในการจัดการศึกษาภาค บังคับสำหรับเด็กไทยโดยมีองค์กรอื่นร่วมจัดด้วยได้แก่เทศบาล กรุงเทพ มหานครและอื่น ๆเดิมการศึกษาระดับนี้กำหนดไว้เพียงหกปี   ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่  1 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่  6 แต่ละปีรัฐบาลจัดสรรงบ ประมาณ   เพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก โรงเรียนสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ไม่นับรวมโรงเรียนเอกชน)     ตั้งกระจายอยู่ทุกตำบลทั่วประเทศ  เพื่อ ให้บริการแก่เด็กในเขตชนบทซึ่งเป็นนักเรียนวัยการศึกษาภาคบังคับกลุ่ม ใหญ่ที่สุด โรงเรียนเหล่านี้รับผิดชอบจัดการศึกษาระดับประถมศึกษา   ผู้เรียนไม่ต้องจ่ายเงินบำรุงการศึกษาเพราะเป็นการจัดบริการแบบให้เปล่า แม้มีบางส่วนที่จัดในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ ผู้ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สูงขึ้น แต่รัฐบาลก็จัดงบประมาณชดเชยเงินบำรุงการศึกษาให้
          นักเรียนกลุ่มนี้มีความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหลายรายการ  แต่บิดามารดา   หรือผู้ปกครองไม่สามารถจัดหาให้ได้ เพราะส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคม อาศัยอยู่ในชุมชนที่ขาดความพร้อม   ด้านโครงสร้างพื้นฐาน    ขณะที่ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการได้รับงบประมาณ เพื่อจัดสรรได้เพียงบางรายการ     อาทิ นักเรียนระดับประถมศึกษาได้รับ เป็นค่าแบบเรียนค่าสมุด-ดินสอ   ค่าเครื่องแบบนักเรียนค่าอาหารเสริม (นม)  ค่าอาหารกลางวันค่าพาหนะให้นักเรียนที่เดินทางลำบากทุนการศึกษานักเรียนที่อยู่ห่างไกลและชายแดน  การให้บริการสุขภาพค่าเวชภัณฑ ์ และผงฟลูออไรด์   รวมทั้งค่าเครื่องช่วยฟังสำหรับนักเรียนพิการเรียนร่วมกับเด็กปกติ   นักเรียนระดับมัธยมศึกษาได้รับ เป็นค่าแบบเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน เงินชดเชยบำรุงการศึกษา และการให้บริการสุขภาพ
          แม้ว่าแต่ละปี    รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเหล่านี้    ให้แก่ กระทรวงศึกษาธิการเป็นจำนวนหลายพันล้านบาท   และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ    แต่ก็ยังไม่สามารถสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน   ให้แก่นักเรียนได้ทุกรายการ   ยิ่งไปกว่านั้น รายการต่าง ๆ  ที่งบประมาณดังกล่าวจัดไว้ ก็ยังไม่สามารถให้นักเรียนได้ครบทุกคนทุกรายการ       จึงเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาความขาดแคลนให้แก่    นักเรียนบางกลุ่มที่มีอยู่ในสังคมเท่านั้น   และหากจะต้องจัดการศึกษาภาคบังคับ  เก้าปีแบบให้เปล่า อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ก็ยิ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกเป็นทวีคูณ
         พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ    พุทธศักราช   2542   ได้กำหนดให้ขยายการศึกษาภาคบังคับจากเดิม    หกปี เป็นเก้าปีไว้ในมาตรา  17   พร้อมทั้งกำหนดแนวการจัดการศึกษา   โดยเฉพาะการจัดกระบวนการเรียนรู้ไว้ในมาตรา 24 ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการดังนั้น นับแต่นี้ไปนักเรียนทุกคนจะต้องได้รับบริการทางการศึกษาโดย
          1)ได้เรียนรู้เนื้อหาสาระและกิจกรรมที่สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดตามความแตกต่างของแต่ละคน
          2) ได้ฝึกทักษะ กระบวนการคิด   การจัดการ   การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้ไปใช้เพื่อป้องกันและแก้ไข
ปัญหา
          3) ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติ ให้ทำได้คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่านและเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
          4) ได้เรียนรู้โดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกันรวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงามและ
คุณลักษณะอันพึงประสงค์ไว้ในทุกวิชา
          5) ได้เรียนรู้โดยผู้สอนจัดบรรยากาศสภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้
และมีความรอบรู้   รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและนักเรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อม
กันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
          6) ได้เรียนรู้ได้ทุกเวลาทุกสถานที่ โดยมีการประสานความ
ร่วมมือกับบิดามารดาผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันพัฒนานักเรียนตามศักยภาพ
          อย่างไรก็ตาม    ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฯ ได้กำหนดไว้ในมาตรา 58    ให้มีการระดมทรัพยากร  และการลงทุน  เพื่อใช้จัดการศึกษาทั้งจากรัฐ    องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคคล ครอบครัว   ชุมชน   องค์กรชุมชน   เอกชน   องค์กรเอกชน  องค์กร วิชาชีพสถาบันศาสนา    สถานประกอบการ สถาบันสังคมอื่น และต่างประเทศด้วย   เนื่องจากตระหนักถึงปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณของภาครัฐจึงจำเป็นต้องให้ทุกฝ่ายในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม
อย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น
          ดังนั้น   เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดบริการทางการศึกษาได้ตามภารกิจที่กฎหมายกำหนด  จึงจำเป็นต้องพัฒนาระบบการบริหารจัดการ เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้    พร้อมทั้งต้องจัดทำระบบ   ข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลเพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นของนักเรียน ได้ตามเกณฑ์ความเพียงพอ   ความเสมอภาคและความยุติธรรม อีกทั้งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับ   การเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มในชุมชน   เข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการโรงเรียน โดยเฉพาะการร่วมวางแผน ตัดสินใจ และตรวจสอบการบริหารจัดการงบประมาณ อย่างจริงจัง
         
          และประการสำคัญ ผู้บริหารโรงเรียนต้อง   ไม่เป็นเพียงนักบริหารมืออาชีพเท่านั้น   หากต้องเป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ชั้นยอด   สามารถระดมทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่ายิ่งในแต่ละชุมชนทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น บุคลากรของหน่วยงานราชการหน่วยงานเอกชนองค์กร และสถาบันทางสังคมต่าง ๆ รวมทั้งวัดและศาสนสถานทุกแห่ง ไม่เว้นแม้แต่บิดามารดาหรือผู้ปกครองมาช่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่นักเรียนให้มากที่สุด   ด้วยวิธีการเช่นนี้ นักเรียนจะได้เรียนรู้ ค้นคว้าและค้นพบความรู้ต่าง ๆ  จากสภาพแวดล้อมและธรรมชาติด้วยตนเอง    และจะช่วยให้นักเรียนภาคภูมิใจในชุมชนของตนเองเป็นการพัฒนานักเรียนให้มีทักษะชีวิตและหล่อหลอมให้นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืนตลอดไป
5.เดินตามรอยพระยุคลบาท : เพื่อวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า
     บทความ โดย นาย กฤษฎา พิณศรี


        ...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ   สำคัญ
อยู่ที่เราพออยู่พอกินและมีเศรษฐกิจ
การเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน   แบบพอม
ีพอกินหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ให้
พอเพียงกับตัวเอง...
      อย่างนี้นักเศรษฐกิจต่างๆ ก็มาบอก
ว่าล้าสมัย
       จริงอาจจะล้าสมัย เพราะว่าคนอื่น
ต้องการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน
เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า  ไม่ใช่
เศรษฐกิจความพอเพียงรู้สึกไม่หรูหรา
        แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า
การผลิตที่พอเพียงทำได้   อย่างข้าว
ที่ปลูกเคยสนับสนุนให้ปลูกข้าว
ให้พอเพียงกับตัวเอง   เก็บเอาไว้ใน
ยุ้งเล็กๆ แต่ละครอบครัวเก็บและถ้ามี
พอก็ขาย แต่คนอื่นกลับบอกว่าไม่สมควร     
โดยเฉพาะภาคอีสาน เขาบอกต้องปลูกข้าว
หอมมะลิเพื่อที่จะขาย

        อันนี้ถูกต้อง   ข้าวหอมมะลิขายได้ดี  
แต่เมื่อขายแล้วพอตัวเองจะบริโภคเอง
ต้องซื้อ
        สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของเศรษฐกิจแบบ
ค้าขาย ภาษาฝรั่งเรียก TRADE ECONOMY
ไม่ใช่แบบพอเพียง  ซึ่งฝรั่งเรียก SELF
SUFFICIENT ECONOMY
        ถ้าเราทำแบบที่ไหนทำได้ คือเศรษฐกิจ
แบบพอเพียงกับตัวเอง   เราก็อยู่ได้โดย
ไม่ต้องเดือดร้อน...
       (พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่
คณะรัฐมนตรี ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ
และประชาชนทุกหมู่เหล่า ในโอกาส
เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องใน
วโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐)

ทฤษฎีใหม่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
     ปัญหาหลักของเกษตรกรในอดีตจนถึงปัจจุบัน
ที่สำคัยประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนน้ำเพื่อ
เกษตรกรรม รวมทั้งการปลูกพืชที่ไม่มีหลักเกณฑ์
ใดๆ และส่วนใหญ่ปลูกพืชชนิดเดียว
     ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้
พระราชทานพระราชดำริเพื่อเป็นการช่วยเหลือ
เกษรกรที่ประสบความยากลำบากดังกล่าว
พระราชดำรินี้ทรงเรียกว่า "ทฤษฎีใหม่" อันเป็น
แนวทางหรือหลักการในการบริหารการจัดการ
ที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้
เกิดประโยชน์สูงสุด  



ทฤษฎีใหม่ ขั้นที่หนึ่ง
     
ทฤษฎีนี้ เป็นวิธีปฏิบัติของเกษตรกร ที่เป็น
เจ้าของที่ดินจำนวนน้อยแปลงเล็ก (ประมาณ
๑๕ ไร่)  โดยมีหลักสำคัญ คือ : ให้เกษตรกร
มีความพอเพียง โดยเลี้ยงตัวได้ (Self
Sufficiency)  ในระดับชีวิตที่ประหยัด
มีการผลิตข้าวบริโภคพอเพียงประจำปี
โดยถือว่าครอบครัวหนึ่ง ทำนา ๕ ไร่ จะมี
ข้าวพอกินตลอดปี
     เพื่อการนี้ มีหลักว่า ต้องมีน้ำ ๑,๐๐๐
ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ฉะนั้น ๕ ไร่ ต้องมี
,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อปี จึงได้ตั้งสูตร
คร่าวๆ ว่า แต่ละแปลงประกอบด้วยนา
๕ ไร่ และพืชไร่และสวน ๕ ไร่ สระน้ำ
๓ ไร่ ลึก ๔ เมตร จุประมาณ ๑๙,๐๐๐
ลูกบาศก์เมตร (๑๙,๒๐๐) ที่อยู่อาศัย
และอื่นๆ ๒ ไร่ รวมทั้งหมด ๑๕ ไร่ หรือ
แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๔ ส่วน ตามอัตราส่วน
๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ โดยประมาณ



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้